หากเราเข้าสู่สังคมโป๊กเกอร์มาได้สักระยะ เราอาจจะเริ่มเห็นหลายๆคนออกมาบ่นกับโป๊กเกอร์ประมาณว่า

“โดน Bad Beat อีกแล้ว เจอบ่อยมาก ทำไมฉันซวยอย่างนี้”

“นี่ระบบมัน Set Up โกงกันรึเปล่า เจอทีไรทำไมเราแพ้ตลอด?”

“ตอนนี้อยู่ในช่วง Downswing มานานแล้ว ท้อมาก เมื่อไหร่จะหลุดพ้นซักที”

“เจอคู่ต่อสู้เอาไพ่กากๆมาเล่นด้วยแล้วชนะอีกแล้ว หัวร้อนเลย”

“Bankroll แตกอีกแล้ว เจ๊งหมดตัวอีกแล้ว ทำยังไงดี?”

ปัญหาเหล่านี้อยู่คู่กับวงการโป๊กเกอร์มาโดยตลอด และอยากให้เตรียมใจไว้ว่า เมื่อเราตั้งใจเข้ามาเล่นโป๊กเกอร์แล้ว ปัญหาเหล่านี้จะเป็นเรื่องที่เราเองก็ต้องเจอกับตัวเองเช่นเดียวกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้อย่างแน่นอน

คำถามก็คือ เราควรจะเตรียมตัว หรือมีหลักคิดยังไง เพื่อให้เราไม่จมอยู่กับปัญหาเหล่านี้ และสามารถก้าวผ่านมันไปได้? 

(อนึ่ง ขออธิบายคำศัพท์โป๊กเกอร์จากประโยคด้านบนไว้คร่าวๆ ตามนี้ :

Bad Beat = การที่ hand เรากำลังนำคู่แข่งอยู่ แล้วไพ่ที่ turn หรือ river ออกมา ทำให้คู่แข่งพลิกกลับมาชนะเราได้ แม้จะมีโอกาสเกิดขึ้นน้อย

Set Up = การที่ระบบจัดไพ่มาให้ hand ของทั้งเราและคู่แข่งติด hand ที่ strong ด้วยกันทั้งคู่ ทำให้มีโอกาสที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะต้องเสียเงินให้อีกฝ่ายเยอะมากๆ เพราะมีโอกาสน้อยที่จะยอม fold

Downswing = ช่วงเวลาที่เรากำลังอยู่ในช่วงที่ไม่ดี เล่นยังไงก็ไม่ได้กำไร เสียเกือบตลอด ทั้งๆที่เราไม่ได้เล่นผิดอะไร

Bankroll = จำนวนเงินทั้งหมดที่เราวางแผนจะนำมาเล่นโป๊กเกอร์)

ก่อนจะตอบปัญหาเหล่านั้นได้ อยากให้เรามาลองทำความเข้าใจโป๊กเกอร์ในแง่มุมที่ลึกขึ้นดูกันอีกสักหน่อย

โป๊กเกอร์ต่างจากเกมไพ่อื่นๆอย่างไร

ทุกคนรู้แล้วว่าโป๊กเกอร์คือเกมไพ่ชนิดหนึ่ง ท่ามกลางเกมไพ่ที่หลากหลาย แต่มันต่างจากเกมไพ่อื่นอย่างไร? แล้วทำไมโป๊กเกอร์ถึงเป็นเกมไพ่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดเกมหนึ่ง มากกว่าเกมอื่นๆ? ทำไมหลายคนนิยมเล่นโป๊กเกอร์? มันคือการพนันหรือไม่ อย่างไร?

ลองมาดูตัวอย่าง

สมมติเราซื้อหวยเพื่อหวังจะถูกรางวัลที่ 1 มา 1 ใบ ในราคา 100 บาท ถ้าเราถูกหวยเราจะได้เงิน ุ6,000,000 บาท แต่ถ้าเราไม่ถูก เราจะเสียเงิน 100 บาท โดยเลขบนหวย จะประกอบไปด้วยตัวเลขทั้งหมด 6 หลัก

คำถามคือ ถ้ามองเรื่องความคุ้มค่าอย่างเดียว เราควรจะตัดสินใจซื้อหวยไปเรื่อยๆหรือไม่?

ในเลขทั้งหมด 6 หลัก แต่ละหลักประกอบไปด้วยเลข 0-9 รวม 10 ตัวเลข ดังนั้น จำนวนเลข 6 หลักทั้งหมดที่มีโอกาสเป็นไปได้ก็คือ 10 x 10 x 10 x 10 x 10 x 10 = 1,000,000 รูปแบบ ใน 1 รูปแบบนี้ มีเพียงรูปแบบเดียวที่จะทำให้เราถูกรางวัลที่ 1 ดังนั้น โอกาสที่เราจะถูกรางวัลที่ 1 ก็คือ 1/1,000,000 หรือหนึ่งในล้าน (และโอกาสที่เราจะไม่ถูกคือ 999,999/1,000,000) นั่นเอง

ถ้าเราจะคำนวณ “ความคุ้มค่า” ของการตัดสินใจอะไรบางอย่าง เราจะต้องคำนวณหา “ผลตอบแทนคาดหวังระยะยาว” หรือ Expected Value (EV) ซึ่งเป็นแนวคิดที่ว่า ถ้าเราทำแบบนี้ซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ ให้มากพอ ระยะยาวแล้ว เราจะได้กำไรหรือขาดทุนมากกว่ากัน จากสิ่งที่เราจะได้รับ เทียบกับสิ่งที่เราต้องเสียไป

โดย EV คำนวณได้ จาก :

EV = (โอกาสชนะ x จำนวนเงินที่เราจะได้) – (โอกาสแพ้ x จำนวนเงินที่เราเสีย)

ถ้าเราลองมาหา EV จากการซื้อหวยเพื่อหวังรางวัลที่ 1 เราจะคำนวณ EV ได้ ดังนี้ 

EV = (1/1,000,000 x 6,000,000) – (999,999/1,000,000 x 100) 

      = 6 – 99,99

      = -93.99

นั่นแปลว่า ถ้าเราซื้อหวยแบบนี้ไปเรื่อยๆ ในระยะยาว เราจะมีโอกาสขาดทุนเฉลี่ยครั้งละ -93.99 บาท หรือพูดง่ายๆก็คือ มันเป็นการตัดสินใจที่ไม่คุ้มค่า เพราะระยะยาว เราจะได้ -EV นั่นเอง

ที่ยกเรื่องนี้มาพูดก็เพราะ โป๊กเกอร์เอง จะเป็นเกมที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ EV อยู่เสมอ เพราะมันเป็นเกมที่เราต้องตัดสินใจ ว่าจากที่คู่แข่ง bet มาเท่านี้ เราควร call ไหม กับ hand ของเรา? จะมีโอกาสชนะเท่าไหร่? คุ้มไหมที่จะเสี่ยงเพื่อแลกกับการชนะเงินใน pot? ฯลฯ 

นั่นจึงทำให้โป๊กเกอร์ไม่ใช่เกมแห่งจิตวิทยา ใช้จิตเข้าข่ม ด้วยการเกทับบลัฟแหลก อย่างไม่มีหลักการ อย่างที่บางคนอาจจะเข้าใจ เพราะแท้จริงแล้ว โป๊กเกอร์เป็นเกมแห่งกลยุทธ์ เป็นเกมแห่งการตัดสินใจ เป็นเกมที่ต้องรวมรวมข้อมูลข่าวสารบนโต๊ะให้ได้มากที่สุดมาใช้ในการคิดวิเคราะห์ เพื่อให้ตัดสินใจได้ถูกต้องที่สุด ข้อมูลหลายอย่างก็เป็นข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เราต้องตั้งสมมติฐาน ต้องอนุมาน ต้องประเมินความน่าจะเป็นและโอกาสที่จะเป็นแบบนั้นเอาเอง ทำให้โป๊กเกอร์เป็นเกมไพ่ที่แตกต่างจากเกมไพ่อื่นๆ เพราะในขณะที่เกมไพ่อื่นๆใช้ “ดวง” เป็นหลัก (เช่น ป๊อกเด้ง เราขอแค่ลุ้นได้ป๊อก ได้เด้งก็พอ เพื่อให้ชนะคนอื่น โดยไม่ต้องใช้ฝีมืออะไร) โป๊กเกอร์ต้องใช้ “ทักษะ” (Skill) ในการตัดสินใจ และเมื่อมีการใช้ทักษะเกิดขึ้น มันจึงทำให้เกิด “ระดับของความเก่ง” ที่แตกต่างกัน คนที่ทักษะเก่งกว่า จะได้เปรียบคนที่ทักษะด้อยกว่า

และในท้ายที่สุดแล้ว skill หรือ ทักษะนี่แหละ ที่จะทำให้เรามีโอกาสเล่นโป๊กเกอร์แล้วได้กำไรในระยะยาว เพราะ skill จะทำให้เรามี “Edge” (เอดจ์ : ความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคนอื่น) ที่จะทำให้เราเรามีโอกาสชนะมากขึ้น หรือ มีโอกาสกินเงินเดิมพันที่สูงขึ้น (และพอโอกาสชนะหรือได้เงินเดิมพันมากขึ้น ก็ทำให้เรามีโอกาสจะเล่นแล้วมี +EV หรือมีผลตอบแทนคาดหวังระยะยาวที่เป็นบวกนั่นเอง)

จงเข้าใจและยอมรับความผันผวนของโป๊กเกอร์ว่าเป็นเรื่องธรรมชาติ

อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า ที่เราพูดกันมาทั้งหมดในเรื่องของกำไร มันคือ “โอกาส/ค่าเฉลี่ยระยะยาว” นั่นแปลว่า ในระยะสั้นแล้ว มันจะมี “ความไม่แน่นอน” หรือ “ความผันผวน (Variance)” เกิดขึ้นได้เสมอ ในรูปแบบของ “โชค” ไม่ว่าจะโชคดี ที่ทำให้เราได้กำไรมากกว่าค่าเฉลี่ย หรือโชคร้าย ที่ทำให้เราเสียเงินเป็นจำนวนมาก การที่เรามีโอกาสชนะ 95% ไม่ได้แปลว่า เราจะไม่มีวันแพ้ เพราะมันแปลว่า หากเราเล่นแบบนี้ไป 100 ครั้ง ยังไงเราก็ยังมีโอกาสแพ้อยู่ 5 ครั้งอยู่ดี ซึ่งเราไม่มีทางรู้ล่วงหน้าเลยว่า มันจะเกิดขึ้นกับเราเมื่อไหร่ แต่เราต้องรู้และเข้าใจไว้ว่า มันมีโอกาสเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่ว่าเราจะเล่นได้ถูกต้อง หรือดีที่สุดแล้วก็ตาม

จากที่อธิบายมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่า โป๊กเกอร์เป็นเกมที่มีความเป็นคณิตศาสตร์สูงมาก ที่ทำให้เราต้องคิดคำนวณ โอกาส ความน่าจะเป็นต่างๆ ต้องเข้าใจในเรื่องของค่าสถิติระยะยาว และความผันผวน หรือความเสี่ยง ที่อาจจะเกิดผลลัพธ์ที่เป็นลบกับเราได้ในระยะสั้น และยอมรับมันให้ได้

ยกตัวอย่างเช่น นาย A อาจจะเป็นผู้เล่นที่เก่งกว่า นาย B ทั้งคู่มาเล่นโป๊กเกอร์แข่งกัน เพียง 50 ครั้ง ด้วยจำนวนครั้งที่น้อยขนาดนี้ มันก็มีโอกาสที่นาย B จะชนะนาย A ได้มากกว่า และกินเงินนาย A จนหมดเลยก็ได้ ถ้านาย A โชคดี จั่วได้แต่ไพ่ดีๆ หรือไพ่กองกลางเป็นใจบ่อยๆ เปิดอะไรขึ้นมาก็ติดแต่ hand ใหญ่ๆ แม้นาย A จะพยายามเล่นดีขนาดไหน ก็อาจจะสู้นาย B ไม่ได้ เพราะสถานการณ์เป็นใจให้นาย B มากกว่า 

แต่ลองนึกภาพว่า ถ้านาย A และนาย B มาแข่งกันมากขึ้น เป็น 1,000 ครั้ง / 10,000 ครั้ง หรือ 100,000 ครั้ง โอกาสที่นาย A และนาย B จะได้ไพ่ที่ได้เปรียบเสียเปรียบกัน จะน้อยลงเรื่อยๆ เพราะถ้าเล่นด้วยกันมามากพอ ทั้งนาย A และนาย B จะเริ่มเจอสถานการณ์โดยรวมที่ใกล้เคียงกัน มีทั้งโชคดี โชคร้ายคล้ายๆกัน ได้ทั้งไพ่ดีและไพ่แย่ เกือบจะครบพอๆกัน นั่นทำให้ถ้าเราเล่นด้วยจำนวนที่มากพอ สิ่งเดียวที่จะทำให้นาย A แตกต่างจากนาย B ก็คือ “ทักษะ” หรือฝีมือในการเล่นนั่นเอง ถ้านาย A เก่งกว่านาย B จริงๆ แม้ระยะสั้น เขาอาจจะแพ้นาย B บาง แต่ในระยะยาว โดยรวมแล้ว เขาจะสามารถชนะนาย B ได้มากกว่า และกินเงินจากนาย B ได้มากกว่าอย่างแน่นอน 

(ปัจจุบัน ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่า คำว่า “ระยะสั้น” หรือ “ระยะยาว” นั้นคือกี่ครั้ง หรือกี่ hand เรารู้เพียงแต่ว่า ยิ่งจำนวนครั้งเยอะขึ้น มันยิ่งเข้าใกล้ค่าเฉลี่ยตามสถิติระยะยาวมากขึ้น ซึ่งถ้าพอจะเชื่อถือได้ อาจจะต้องมีฐานข้อมูลมากกว่า 30,000 hand ขึ้นไป โดยประมาณ)  

ถ้าเราเข้าใจตามนี้ดีจริงๆแล้ว มันจะช่วยให้เราลดความหงุดหงิด ความหัวร้อน (ภาษาโป๊กเกอร์เรียกว่าอาการ “Tilt” (ทิลท์) มาจากลักษณะอาการโอนเอียง เซไปมา ไม่มั่นคง หรือเรียกง่ายๆว่า “เป๋” ที่ทำให้เราตัดสินใจได้แย่ลง ลดความมีเหตุผล มาใช้อารมณ์ในการตัดสินใจมากขึ้น ที่อาจส่งผลให้เราเล่นได้แย่ลง) ลงไปได้อย่างมาก ในยามที่เกิดความผันผวน โชคร้าย หรือเกิดผลลัพธ์ที่ไม่เป็นใจขึ้นกับเรา เพราะเรารู้แล้วว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของค่าสถิติ ที่ทุกคนที่เล่นโป๊กเกอร์ต้องเจอ ไม่ว่าจะเก่งขนาดไหนก็ตาม   

จากที่เราเรียนรู้มา ถ้าเราลองย้อนกลับไปที่ปัญหาตอนต้นบทความ เราจะสามารถเข้าใจและแก้ไขปัญหาทางความคิดเหล่านั้นได้อย่างมีสติมากขึ้น :

“โดน Bad Beat อีกแล้ว เจอบ่อยมาก ทำไมฉันซวยอย่างนี้”

“นี่ระบบมัน Set Up โกงกันรึเปล่า เจอทีไรทำไมเราแพ้ตลอด?”

“ตอนนี้อยู่ในช่วง Downswing มานานแล้ว ท้อมาก เมื่อไหร่จะหลุดพ้นซักที”

“เจอคู่ต่อสู้เอาไพ่กากๆมาเล่นด้วยแล้วชนะอีกแล้ว หัวร้อนเลย”

“Bankroll แตกอีกแล้ว เจ๊งหมดตัวอีกแล้ว ทำยังไงดี?”

ถึงจุดนี้แล้ว หวังว่าทุกคนจะเริ่มเข้าใจโป๊กเกอร์มากขึ้น ว่าโป๊กเกอร์มีความเป็น “ศาสตร์” ที่ต้องใช้ตรรกะ หลักการ และเหตุผล มากกว่าที่เราคิด ซึ่งทำให้การเล่นโป๊กเกอร์กลายเป็นเรื่องพิเศษ เพราะนอกเหนือจากจะช่วยสร้างรายได้ให้เราถ้าเราเล่นเก่งแล้ว โป๊กเกอร์ยังช่วยพัฒนาความคิต จิตวิญญาณ ระบบการคิดวิเคราะห์ และ mindset ของเราให้ถูกต้อง เข้มแข็งมากขึ้น เราอาจจะต้องผ่านความเครียด ความเจ็บปวด ความท้อแท้สิ้นหวัง จากความผันผวนในเกมโป๊กเกอร์นับครั้งไม่ถ้วน แต่ถ้าเราผ่านมันมาได้ มันจะทำให้เราเข้าใจธรรมชาติของสิ่งต่างๆมากขึ้น ทำให้เรารู้จักปล่อยวางในสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้ และมุ่งมั่นพัฒนาแต่ในสิ่งที่เราควบคุมได้ ก็คือตัวเราเอง มันจะทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน

====================================================================

บทสรุปจากบทที่ 2